top of page

โครงการป้ายเสริมความโดดเด่นหน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

       มหาวิทยาลัยกรุงเทพทุ่มงบ 4 ล้านบาท สร้างป้ายชื่อถาวรหน้ามหาวิทยาลัย 3 ตำแหน่ง บริเวณประตู 1 ประตู 2  และลานคันดินหน้าอาคารบียูแลนด์มาร์ค ขณะที่นักศึกษามองว่าไม่จำเป็น

 

       อาจารย์ธิดาใจ จันทนามศรี อาจารย์ประจำสำนักงานบริหารกายภาพและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยกรุงเทพและผู้ออกแบบป้ายหน้ามหาวิทยาลัย กล่าวว่า แต่เดิมด้านหน้ามหาวิทยาลัยไม่มีป้ายแสดงให้ผู้สัญจรไปมาทราบถึงตำแหน่งของมหาวิทยาลัยกรุงเทพวิทยาเขตรังสิตมหาวิทยาลัยจึงอนุมัติให้ก่อสร้างป้ายชื่อถาวรจำนวน 3 ป้าย เพื่อเสริมความโดดเด่นของอาคารบียูแลนด์มาร์ค และเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าที่นี่คือมหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 4 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่สูงพอสมควร เนื่องจากลักษณะโครงสร้างของป้ายถูกออกแบบให้มีความทันสมัย สร้างสรรค์ และใช้วัสดุที่มีคุณภาพ

 

       อาจารย์ธิดาใจ กล่าวถึงรูปแบบและรายละเอียดของป้ายว่า ป้ายที่ตั้งอยู่บริเวณประตู 1 จะมีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูแนวตั้ง ด้านในเป็นโครงเหล็กกว้าง 2 เมตร สูง10 เมตร พื้นผิวป้ายสีดำทำจากวัสดุอลูมิเนียมคอมโพสิต ซึ่งมีสารกันไฟจึงมีความปลอดภัยสูง บนป้ายมีอักษรตัวนูนสีขาว ประกอบเป็นชื่อภาษาอังกฤษ “BANGKOK UNIVERSITY” พร้อมตราสัญลักษณ์รูปเพชร ถัดมาป้ายที่ 2 บริเวณประตู 2 รูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูแนวนอน ทำจากโครงเหล็ก ความสูง 3 เมตร กว้าง 5 เมตร มีอักษรตัวนูนสีขาว เขียนว่า “BANGKOK UNIVERSITY” บนพื้นหลังสีดำ วัสดุทำจากอลูมิเนียมคอมโพสิต ลักษณะคล้ายป้ายบริเวณประตู 1 ส่วนบริเวณลานคันดินด้านหน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก่อสร้างเป็นตัวอักษรคำว่า ‘BANGKOK UNIVERSITY’ ลอยจากพื้นดิน ความสูงของตัวอักษรขนาด 1 เมตร กว้าง 0.5 เมตร วัสดุทำจากสแตนเลสสีเงิน

 

       ทั้งนี้ ระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้างเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มกราคมเป็นต้นมา จะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือน มีนาคม 2559 เพื่อให้บัณฑิตที่กำลังจะเข้าพิธีรับปริญญาในเดือนเมษายนนี้สามารถถ่ายภาพกับป้ายหน้ามหาวิทยาลัยและเกิดการแชร์ภาพบนสื่อสังคมออนไลน์ต่อไป ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ภูมิทัศน์ใหม่ด้านหน้ามหาวิทยาลัยไปในตัว

 

       ด้านนางสาวธัญชนก วรเพียงกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพกล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การสร้างป้ายด้านหน้ามหาวิทยาลัยไม่มีความจำเป็นมากนักเพราะอาคารบียูแลนด์มาร์คก็มีความโดดเด่นและเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความเป็นมหาวิทยาลัยกรุงเทพอยู่แล้ว จึงอยากให้มหาวิทยาลัยพัฒนาในส่วนอื่นๆ มากกว่า เช่น เพิ่มจำนวนที่จอดรถให้เพียงพอต่อจำนวนรถยนต์ของนักศึกษา

 

       ขณะที่นายธนกร ศิลาทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่าไม่ทราบว่าการก่อสร้างด้านหน้ามหาวิทยาลัยเป็นการทำป้าย เข้าใจผิดคิดว่าเป็นการซ่อมท่อเนื่องจากมีน้ำท่วมขังด้านหน้ามหาวิทยาลัยอยู่บ่อยครั้ง จึงมองว่าการสร้างป้ายไม่มีความจำเป็น เพราะด้านหน้ามหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นอยู่แล้ว แต่อยากให้พัฒนาส่วนอื่นมากกว่า เช่น รถรางมีจำนวนไม่เพียงพอรองรับนึกศึกษาในช่วงเวลาเข้าเรียนอยากให้เพิ่มความถี่ในการปล่อยรถรางมารับส่งนักศึกษาไปยังตามจุดต่างๆภายในมหาวิทยาลัย

bottom of page