top of page

ก้าวทันยุคนักข่าวสะพายเป้

       มาตรการรณรงค์ลดการใช้โฟมของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ยังไม่เข้มงวด ส่งผลให้เห็นผู้ประกอบการใช้โฟมเป็นบรรจุภัณฑ์จำหน่ายอาหารในโครงการ “ตลาดนัดสุขหรรษา”

 

           มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ออกมาตรการควบคุมการใช้โฟมบรรจุอาหารภายในมหาวิทยาลัย แต่ยังไม่มีการรณรงค์ออกมาอย่างจริงจัง ทำให้ยังเห็นผู้ประกอบการบางร้านที่ใช้โฟมใส่อาหารจำหน่ายกับนักศึกษาที่มาใช้บริการ ในโครงการ “ตลาดนัดสุขหรรษา” บริเวณหน้าอาคารเอ 6

 

           จากสถิติของกรมควบคุมมลพิษ  พบว่าในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2552-2556 มีปริมาณขยะโฟมเพิ่มขึ้น จาก 34 ล้านใบต่อวัน เป็น 61 ล้านใบต่อวัน เฉลี่ยแล้วในหนึ่งวันคนไทยสร้างขยะโฟมเพิ่มขึ้นคนละ 1 ใบ โดยภาชนะบรรจุอาหารชนิดโฟมโพลิสไตรีนมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางเพราะสามารถหาซื้อได้ง่ายและราคาไม่แพง ซึ่งจากการตรวจสอบราคาภาชนะทดแทนกล่องโฟมที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้า พบว่า ปัจจุบันกล่องบรรจุอาหารที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ ขนาด 600 ซีซี มีราคาสูงกว่ากล่องโฟมขนาดเท่ากันใบละ 30 สตางค์ ส่วนชามไบโอชานอ้อย ขนาด 6 นิ้ว มีราคาสูงกว่าชามโฟมในขนาดเท่ากันใบละ 1 บาท ส่วนปัจจัยที่ทำให้สารสไตรีน ลงไปปนเปื้อนในอาหารนั้น เกิดจากอุณหภูมิของอาหารที่ร้อน และ อาหารที่มีน้ำมันสูง หากปล่อยให้อาหารสัมผัสกับกล่องโฟมเป็นเวลา จะยิ่งทำให้สารดังกล่าวปนเปื้อนได้มากขึ้น ในกรณีการนำพลาสติก หรือ ใบตองมารองอาหาร สามารถช่วยให้อาหารไม่สัมผัสกล่องโฟมได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะอาหารยังมีความร้อน และไขมัน ที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารสไตรีนได้

 

      ด้านงานวิจัยเรื่องความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารบรรจุกล่องโฟมโพลิสไตรีนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี พ.ศ.2553 ระบุว่าการรับประทานอาหารที่บรรจุกล่องโฟมเป็นประจำ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง ในเรื่องของการย่อยสลายโฟมใช้เวลาถึง 450 ปี ขณะที่ไปโอชานอ้อยมีระยะในการย่อยสลายเพียงแค่ 45 วัน จากข้อมูลกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้ข้อมูลเรื่องความปลอดภัยของวัสดุอาหารว่า วัสดุที่มีความปลอดภัยสูงสุดคือ ภาชนะประเภทแก้วและเซรามิก เนื่องจากมีความเฉื่อยต่อการเกิดปฏิกิริยา ส่วนภาชนะจำพวก พลาสติก และกระดาษ มีการปนเปื้อนของสารต่างๆเช่น สารเมลามีน สารสไตรีน เป็นต้น ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง

 

          จากการลงพื้นที่สำรวจบริเวณหน้าอาคารเอ 6 สถานที่จัดงานโครงการ “ตลาดนัดสุขหรรษา”ซึ่งจัดทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ พบว่า มีเพียงร้านค้าจากข้างนอกมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ยังคงใช้โฟมเป็นภาชนะในการใส่อาหารเพื่อการจำหน่าย ในขณะที่ร้านค้าส่วนใหญ่หันมาใช้ภาชนะกระดาษในการใส่อาหารแทน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการ เพราะภาชนะกระดาษย่อยสลายง่ายกว่าโฟม โดยนางสาวผสุดี ลิ้มกุล เจ้าของร้านขายทาโกยากิและพิซซ่าญี่ปุ่น กล่าวว่า “ที่เลือกใช้กล่องกระดาษแทนโฟมเพราะว่าโฟมมันอันตราย มีสารก่อมะเร็งและย่อยสลายยาก”

 

      ด้านอาจารย์สิทธิพงษ์ เปรมประพันธ์ หัวหน้าแผนกกิจกรรมพัฒนานักศึกษา ได้ชี้แจงถึงการควบคุมการใช้โฟมสำหรับจำหน่ายอาหารภายในโครงการว่า ทางมหาวิทยาลัยมีการรณรงค์ในเรื่องการลดใช้โฟมไปบ้างแล้วแต่ยังไม่มีมาตรการควบคุมอย่างเด็ดขาด ทำให้ร้านค้าบางส่วนยังมีการใช้โฟมในการเป็นภาชนะจำหน่ายอาหาร เนื่องจากมีราคาของต้นทุนต่ำกว่าพวกภาชนะประเภทอื่น

 

          ขณะที่นายภาณุทัศน์ บุญบรรดารสุข นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาจีนธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบเลือกใช้โฟมอาจเป็นเพราะราคาต้นทุนที่ต่ำกว่ำภาชนะประเภทกระดาษจึงเลือกใช้โฟมในการใส่อาหารมากกว่า เช่นเดียวกับนางสาวรุ่งเรือง หงษ์สวัสดี ผู้จัดการโรงอาหาร 3 กล่าวว่า “ทางร้านค้าและผู้บริหารของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตระหนักถึงความอันตรายของโฟม จึงให้เปลี่ยนมาใช้พลาสติกทนความร้อนในการบรรจุอาหารแทน จริงๆแล้วอยากใช้ชานอ้อยมากกว่า แต่ด้วยต้นทุนค่อนข้างสูง ถ้าเราเลือกใช้ชานอ้อย ภาระจะตกไปอยู่ที่ผู้บริโภค ทำให้สินค้าแพงขึ้น หากในอนาคตสามารถตกลงกันได้ ก็อยากใช้ชานอ้อย”

          มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถทำตามแผนควบคุมการใช้โฟมให้น้อยลงตามที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดไว้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากยังมีร้านค้าจากข้างนอกใช้โฟมเป็นภาชนะบรรจุอาหารจำหน่ายให้กับนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย อีกทั้งผู้ประกอบการในมหาวิทยาลัยไม่สามารถใช้ภาชนะประเภทแก้วและเซรามิกได้เพราะมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง หากมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนนโยบายมาใช้แก้วและเซรามิกคงเป็นไปได้ยากสำหรับเรื่องนี้

         

bottom of page